รื้อโครงสร้างอำนาจยุบส่วนภูมิภาคสู่ท้องถิ่น
โดย...ทีมข่าวการเมืองหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ : 19 April 2011
หมายเหตุ -คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.) ชุดที่มีนายอานันท์ ปันยารชุนอดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้ออกแถลงการณ์ต่อสื่อมวลชน พรรคการเมืองว่าด้วยแนวทางปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ : การกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่น เมื่อวันที่ 18 เม.ย. โดยมีข้อเสนอน่าสนใจ อาทิ ให้ยุบเลิกราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
บทบาทของรัฐบาลและท้องถิ่น
การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจจึงจำเป็นต้องถอดสายอำนาจบัญชาการของรัฐบาลที่เข้าไปแทรกแซงการบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นอำนาจในการพิจารณาอนุมัติ/อนุญาต อำนาจในการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น อำนาจในการยับยั้งข้อบัญญัติของท้องถิ่น หรืออำนาจในการถอดถอนผู้บริหารและสภาท้องถิ่น
เนื่องจากราชการส่วนภูมิภาคเป็นสายอำนาจบัญชาการที่สำคัญของรัฐบาล ซึ่งสามารถเข้าไปแทรกแซงหรือทับซ้อนกับอำนาจในการจัดการตนเองของท้องถิ่น ดังนั้น จึงเสนอให้ยุบเลิกราชการส่วนภูมิภาค โดยปรับบทบาทของหน่วยราชการในระดับจังหวัดให้เหลือเพียง 3 รูปแบบคือ
(ก) สำนักงานประสานนโยบาย หรือสำนักงานบริการทางวิชาการเช่น ศูนย์วิจัยข้าวสถานีประมง ศูนย์วิจัยมลพิษสิ่งแวดล้อม เป็นต้นเพื่อสนับสนุนการทำงานของส่วนกลางหรือท้องถิ่น
(ข) สำนักงานสาขาของราชการส่วนกลางเฉพาะในภารกิจที่รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการเอง เช่น การจัดเก็บภาษีรายได้และภาษีมูลค่าเพิ่มการจัดทำหนังสือเดินทาง เป็นต้น และ
(ค) สำนักงานตรวจสอบและเสนอแนะการบริหารจัดการท้องถิ่น
ส่วนภารกิจอื่นๆ ในการให้บริการของหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาคในระดับจังหวัดให้ยก
เป็นอำนาจในการบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับจังหวัดและระดับต่ำกว่าจังหวัด
รูปแบบของการบริหารจัดการและการปกครองส่วนท้องถิ่น
การบริหารจัดการตนเองของท้องถิ่นประกอบด้วย 2 กลไกหลัก กลไกแรกเป็นการบริหาร
จัดการตนเองของชุมชน และประชาชนในท้องถิ่น ด้วยรูปแบบและกลไกแบบประชาสังคม ซึ่งมีอยู่แต่ดั้งเดิมและหลากหลายในแต่ละพื้นที่ สอดประสานกับกลไกที่สองคือ การบริหารราชการหรือการปกครองท้องถิ่น ซึ่งได้รับการถ่ายโอนอำนาจหน้าที่จากรัฐบาล
ผู้บริหารและสภาท้องถิ่น ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่บริหารราชการ ในฐานะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเช่นเดิม แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องรับรองและสนับสนุนบทบาทของชุมชนและภาคประชาสังคมในการมีส่วนร่วมในการบริหารราชการ และการจัดบริการต่างๆ ภายในท้องถิ่น
ยิ่งไปกว่านั้นในการตัดสินใจที่มีผลสำคัญต่อการวางแผนพัฒนาท้องถิ่น และต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนยังจำเป็นต้องสร้างความสัมพันธ์แบบใหม่ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน ผ่านทางคณะกรรมการประชาสังคม ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนจากองค์กรชุมชน องค์กรอาชีพ องค์กรศาสนา หรือองค์กรประชาสังคมอื่นๆ เพื่อช่วยให้เกิดการปรึกษาหารือและต่อรองร่วมกัน รวมถึงเชื่อมโยงการบริหารราชการที่ผ่านตัวแทนในระบบประชาธิปไตย
การปกครองส่วนท้องถิ่นจะแบ่งเป็น 2 ระดับโดยให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นผู้บริหารท้องถิ่นในระดับจังหวัด และให้เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้บริหารท้องถิ่นในระดับต่ำกว่าจังหวัด
ในอนาคตควรยกระดับองค์การบริหารส่วนตำบลที่มีอยู่ให้เป็นเทศบาล ทั้งนี้ ในการยกระดับดังกล่าวควรคำนึงถึงขนาดหรือจำนวนประชากรที่เหมาะสมต่อการให้บริการที่ดีและมีประสิทธิภาพ
ขอบเขตอำนาจของการปกครองส่วนท้องถิ่น
การกำหนดขอบเขตอำนาจที่เหมาะสมของท้องถิ่น จะพิจารณาจากอำนาจในการจัดการทรัพยากรและกลไกที่จำเป็นในการสร้างความเป็นธรรมในสังคมใน 4 มิติ คือ
1.มิติการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2.มิติการจัดการเศรษฐกิจ
3.มิติการจัดการสังคม
4.มิติการจัดการทางการเมือง
การเสริมอำนาจในการจัดการตนเองของท้องถิ่น
เพื่อสนับสนุนให้เกิดความเป็นอิสระในการบริหารจัดการของท้องถิ่นมากขึ้น รัฐบาลควรถ่ายโอนอำนาจการจัดเก็บภาษีให้แก่ท้องถิ่นมากขึ้น (เช่น ภาษีที่ดิน ภาษีสิ่งแวดล้อม) หรือแบ่งสรรสัดส่วนภาษีที่ส่วนกลางจัดเก็บให้แก่ส่วนท้องถิ่นมากขึ้น เช่น เพิ่มสัดส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ท้องถิ่นได้รับจาก 10% (หรือ 0.7% ของมูลค่าเพิ่ม) เป็น 30% (หรือ 2.1% ของมูลค่าเพิ่ม)
ขณะเดียวกัน ท้องถิ่นก็ควรมีอำนาจโดยชอบธรรมในการใช้มาตรการทางภาษีในการสนับสนุนการดำเนินนโยบายของตนในขอบเขตที่เหมาะสมและเป็นธรรม เช่น การเพิ่มอัตราภาษียานพาหนะเพื่อสนับสนุนนโยบายการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในจังหวัด หรือการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ที่ลงทุนหรือสนับสนุนการสร้างพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเยาวชน เป็นต้น
รัฐบาลควรใช้งบประมาณของรัฐบาล (เงินส่วนของรัฐไม่ใช่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น)มาจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนทั่วไป ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ท้องถิ่นต้องมีอำนาจในการจัดการระบบการคลังของตน เช่น การลงทุน การกู้ยืม การร่วมทุน และการจัดตั้งกองทุน เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของท้องถิ่นและเสริมหนุนความเข้มแข็งของชุมชน
ทีมงานกลุ่มเพื่อนข้าราชการส่วนท้องถิ่น : www.thailocalgov.com รายงาน
๑๙ เมษายน ๒๕๕๔
ดาวน์โหลดบทความนี้ คลิกที่นี่ |